นพ.ประเสริฐ นุตกุล (2479-2517)

โรงพยาบาลกลาง-วชิระพยาบาล

นพ.ยลชัย จงจิระศิริ

ในช่วง ปี พ.ศ.2497-2517 อ.นพ.ประเสริฐ นุตกุล เป็นแพทย์ท่านแรกของประเทศไทยที่ทำผ่าตัดโดยใช้เหล็กดามกระดูกในโรงพยาบาลกลาง ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการ รพ.ตากสิน ในสมัยนั้นจะมีการประชุมวิชาการระหว่างโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครทั้งเทศบาลนครกรุงเทพและกระทรวงสาธารณสุขได้แก่ รพ.กลางรพ.เลิดสิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รพ.พระมงกุฎเกล้า คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้น อ.นพ.ประเสริฐ นุตกุลเป็นหนึ่งในที่ประชุมที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการรักษาด้านกระดูกที่ทันสมัยและได้แสดงข้อคิดเห็นที่โดดเด่นอยู่เสมอ

สิ่งที่อ.นพ.ประเสริฐ ได้คิดค้นการผ่าตัดกระดูกและข้อที่ยังนำมาปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้ได้แก่ การผ่าตัดโดยใช้โลหะดามกระดูกในผู้ป่วยกระดูกหักแบบแผลเปิด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการแบ่งชนิดของกระดูกหัก แบบแผลเปิด และการรักษากระดูกหักแบบแผลเปิดมักจะเกิดขึ้นตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการรักษาเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโดยการตัดแขนหรือขาออก เพื่อรักษาชีวิตให้รอดเท่านั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงการดูแลที่สะดวก แต่อ.นพ.ประเสริฐแบ่งการรักษากระดูกหักแบบแผลเปิดโดยดูจากบาดแผล เช่นบาดแผลสะอาด บาดแผลเล็ก เนื้อเยื่อบาดเจ็บไม่มาก อ.นพ.ประเสริฐ จะล้างบาดแผลให้สะอาด และดามโลหะดามกระดูกทันที โดยให้เหตุผลว่าผู้ป่วยหลังผ่าตัดดูแลง่าย สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสมัยนั้น ในราวปี พ.ศ.2501 (Ellis 1958, Nicoll 1964,Cauchoix 1965) ทั่วโลกเพิ่งจะเริ่มคิดการแบ่งชนิดของการบาดเจ็บกระดูกหักแบบแผลเปิด และ Gustilo RB,Anderson JT (1976) ได้แบ่งชนิดและถูกนำมาใช้มากขึ้น และพัฒนามาถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความคิดของอ.นพ.ประเสริฐ ที่มองภาพการรักษากระดูกหักแบบแผลเปิดได้เหมือนในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว และอ.นพ.ประเสริฐ ได้เขียนบทความดังกล่าวในหนังสือไว้เช่นเดียวกัน

การก่อตั้งชมรมออร์โธปิดิกส์ เริ่มต้นจากมีการประชุมและเลี้ยงอาหารบนโต๊ะจีน ที่ห้องประชุมวิทยบูลย์ชั้น 2 รพ.กลาง(ข้อมูลได้จากคำบอกเล่าจาก อ.นพ.วิวัฒน์ กรีพานิช แพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่ รพ.กลาง)อ.นพ.ประเสริฐ เป็นผู้เสนอให้อ.นพ.เฟื่อง สัตย์สงวน เป็นประธานชมรมออร์โธปิดิกส์ อ.นพ.ประเสริฐเป็นเลขาชมรมฯ ขณะนั้นสำนักงานชมรมได้เปลี่ยนที่ไปตามโรงพยาบาลที่อ.นพ.ประเสริฐ ไปเป็นผู้อำนวยการได้แก่ โรงพยาบาลตากสิน และวชิรพยาบาล ซึ่งต่อมาได้เกิดชมรมออร์โธปิดิคส์อย่างเป็นทางการขึ้นในปีพ.ศ.2509 และได้พัฒนาเป็นเป็นสมาคมออร์โธปิดิคส์ฯ และราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ฯ ตามลำดับ

การจัดเก็บเอกสารและข้อมูลการรักษาพยาบาลโรคทางออร์โธปิดิกส์ อ.นพ.ประเสริฐ ใช้สมุดใหญ่เล่มหนาประมาณ 500 หน้า ทุกๆวัน อ.นพ.ประเสริฐ จะบันทึกการรักษาพยาบาลคนไข้ โดยเรียงตามโรคต่างๆที่รักษา มีอยู่ 105 โรค ที่ อ.นพ.ประเสริฐ เรียงตามหน้าต่างๆ เหมือนปัจจุบันที่จัดเก็บเป็นโฟลเดอร์ และในโฟลเดอร์นั้นก็จะเรียงลำดับชื่อผู้ป่วย เรียงเป็นคอลัมน์ อธิบายในแต่ละช่องชัดเจน ว่าทำอะไรไปบ้าง ได้ผลเป็นอย่างไร ได้ผลดีหรือเสียอย่างไร อ.นพ.ประเสริฐ ทำแบบนี้เนื่องจาก เวลาอาจารย์ไปบรรยายที่ไหน จะใช้ข้อมูลของอาจารย์ ที่บันทึกไปบรรยายทุกแห่ง นี่คือสิ่งที่อาจารย์ ปฏิบัติเมื่อปี พ.ศ.2500- 2507 ซึ่งผู้เขียนถือว่าอ.นพ.ประเสริฐ เป็นผู้ที่จัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลทุกอย่างที่อาจารย์บันทึกไปบรรยายสิ่งที่อาจารย์ทำ เหมือนการใช้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

อ.นพ.ประเสริฐ จดบันทึกการผ่าตัดทุกวันในสมุดบันทึก โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2501 และแพทย์รุ่นต่อมาได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้จนถึงปีพ.ศ.2545 มีคอมพิวเตอร์บันทึกแทนจึงได้ยกเลิกการใช้สมุดบันทึก ข้อดีที่สมุดบันทึกยังเก็บไว้อยู่ ทำให้คนรุ่นหลังรู้ว่าอ.นพ.คำนวณ คชาชีวะ ได้ผ่าตัดทำ total hip replacement เป็นรายแรก ในปี พ.ศ.2514 และ อ.นพ.ประเสริฐ ได้ให้แพทย์ในแผนกทำ morning film conference และเตรียมการผ่าตัดทุกๆวัน รวมถึงพัฒนาให้มีระบบแบ่งสายการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น 2 สาย สายหนึ่งออก OPDอีกสายจะเข้าห้องผ่าตัด เพื่อที่จะได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการผ่าตัดร่วมกัน

เมื่อเข้ามารับราชการในโรงพยาบาลกลางและได้พัฒนางานด้านศัลยกรรมกระดูก อ.นพ.ประเสริฐ นุตกุลได้ดำรงหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมกระดูกโรงพยาบาลกลาง ได้สร้างชื่อเสียงในการรักษากระดูกหักโดยวิธีการผ่าตัดดามด้วยโลหะ ซึ่งสมัยนั้นเพิ่งจะมีโลหะดามกระดูกมาใช้ในประเทศ เมื่อมีการถอดโลหะดามกระดูกออกมาอ.นพ.ประเสริฐ สังเกตว่าทำไม โลหะดามกระดูกมีรูพรุนๆ ซึ่งอาจารย์ คิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะโลหะที่ดามในร่างกายเราไม่น่าจะเสื่อมสภาพลงใน 2 ปี อ.นพ.ประเสริฐ ได้ส่งโลหะดามกระดูกเหล่านี้ไปที่อเมริกาเพื่อวิเคราะห์โลหดามกระดูกเหล่านี้จึงได้เกิดการพัฒนาโลหะดามกระดูกในเวลาต่อมา หลังจากนั้นอ.นพ.ประเสริฐ ได้ไปเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลตากสินเป็นท่านแรก พัฒนาโรงพยาบาลตากสินจนมีชื่อเสียงและย้ายไปเป็นผู้อำนวยการวชิรพยาบาล ได้ริเริ่มก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2518 และตำแหน่งสุดท้ายของชีวิตราชการของอ.นพ.ประเสริฐ นุตกุล คือผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร